เกี่ยวกับปัญหา P กับ NP

ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงทฤษฎีที่สำคัญที่สุดและโด่งดังที่สุดของวิทยาการคอมพิวเตอร์ หลายคนบอกว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎีไม่สามารถจะพูดเกี่ยวกับผลงานของสาขาตนเองได้มากนัก เพราะแม้แต่ปัญหาที่เป็นพื้นฐานที่สุด เรายังไม่สามารถตอบได้เลย

สำหรับคนที่เคยผ่านหูผ่านตาปัญหาชื่อประมาณนี้มาบ้าง ขอผมทบทวนสักหน่อยโดยใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการนัก

เวลาผมกล่าวถึง "ปัญหา" ผมหมายถึงปัญหาที่ต้องการคำตอบว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เช่น ปัญหาจำนวนเฉพาะ ที่ให้จำนวนเต็มบวกมาหนึ่งจำนวน แล้วถามว่าจำนวนหนึ่งเป็นจำนวนเฉพาะหรือไม่?
  • ปัญหาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มปัญหา P คือปัญหาที่เรามีวิธีที่หาคำตอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปัญหาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มปัญหา NP คือปัญหาที่ถ้าคำตอบของปัญหาหนึ่ง ๆ คือใช่ เรามีวิธีการที่จะยืนยันคำตอบนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
(อ่านเพิ่มที่วิกิพีเดียไทย)

ปัญหานี้เป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ ของการหาคำตอบ กับการยืนยันคำตอบ ซึ่งหลาย ๆ คนเชื่อกันว่า อย่างหลังน่าจะง่ายกว่า

ผมจำได้ว่าได้อ่านจาก โพล ที่ทำโดย William Gasarch เกี่ยวกับปัญหา P และ NP คำตอบหนึ่งของ Luca Trevisan ในโพลนั้น (ที่หลาย ๆ คนคงคิดคล้าย ๆ กับเขา) ก็คือ เขากลัวว่าการพิสูจน์ปัญหาดังกล่าวจะเกิดจากการที่บางคนสังเกตเห็นความเกี่ยวข้องบางอย่างระหว่างปัญหานี้กับคณิตศาสตร์แปลก ๆ แล้วก็พิสูจน์ปัญหานี้ออกมาโดยการทำงานในคณิตศาสตร์แปลก ๆ นั้น แล้วเราซึ่งเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งรู้เรื่องแค่คอมบินาทอริคส์ จะไม่มีทางเข้าใจบทพิสูจน์นั้นเลย

(ผมได้ข่าวจากบล็อกของ Luca) ในงานการประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติที่กรุงมาดริก (ICM'06) ที่จะถึงนี้ Avi Wigderson จะนำเสนอบทความ ที่สรุปความคืบหน้าของการพิสูจน์ปัญหา P กับ NP ตอนต้นบทความเขาอ้างถึงคำพูดของ Steve Smale ว่า "ปัญหา P กับ NP --- ของขวัญสำหรับคณิตศาสตร์จากวิทยาการคอมพิวเตอร์"

เราอาจได้เห็นความคืบหน้าบางอย่าง และสิ่งที่ Luca กลัวที่สุดอาจเป็นจริงก็ได้

Comments

อืม เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหา P vs NP ด้วยคณิตศาสตร์แปลกๆอะ ผมก็เห็นที่ Mulmuley ทำอยู่เหมือนกันอะ ... คนอ่านต้องเข้าใจ Lie Group, Commutative Algebra, Combinatorics, Quantum Group, Algebraic Geometry ก่อนอะ เพื่อนเล่าให้ฟังว่าพวก CS theorist ไม่ยอมรับกันหรอกนะ เพราะอ่านไม่รู้เรื่องด้วย แล้วก็การแก้ปัญหาแบบนี้มันไม่ intuitive ด้วยอะ

คิดแล้วคงเศร้าๆ ถ้ามีคน prove P NP ได้ แต่เราดันอ่านไม่รู้เรื่อง T.T
Anonymous said…
ตลก น่า, ทำไม ต้อง แบ่งแยก ว่า ใคร เป็น com sci ใคร เป็น math sci ด้วย
information theory ก็ ใช้ ทฤษฎี เดียว กับ thermodynamic ไม่ใช่ เหรอ

Popular posts from this blog

กฎแห่งการมีจำนวนมาก (1)

ทฤษฎีบทขีดจำกัดกลาง (1)

ชื่อซ้ำ ชื่อต่าง